4 สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ อย่างที่จอดรถคนพิการ ทางลาดสำหรับเข้าอาคารหรือภายในบริเวณอาคาร ห้องน้ำคนพิการ และลิฟต์ เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกหลักที่จะทำให้ผู้ใช้วีลแชร์เข้าถึงสถานที่ต่าง ๆ ได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นกับประเภทของสถานที่อีกเหมือนกัน เพราะอาจจะมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ช่วยให้ชาววีลแชร์เข้าใช้งานสถานที่ได้อย่างสะดวก เช่น ร้านอาหารที่มีโต๊ะสูงพอดีกับระดับของวีลแชร์ เคาน์เตอร์ที่ชาววีลแชร์สามารถติดต่อสอบถามข้อมูล หรือชำระเงินได้สะดวก หรือโรงแรมที่มีห้องพักที่วีลแชร์เข้าไปใช้บริการได้ทั่วถึง
เอาเป็นว่า เรามารู้จักสิ่งอำนวยความสะดวกหลัก ๆ กันว่าแบบที่ได้มาตรฐานต้องเป็นยังไงกันบ้าง เริ่ม!
1. ที่จอดรถคนพิการ
- พื้นที่จอดรถมีขนาดตั้งแต่ 2.4 x 5 เมตรขึ้นไป
- มีพื้นที่ว่างข้างที่จอดอย่างน้อย 1 เมตร ตลอดความยาวของที่จอดรถ
- มีสัญลักษณ์คนพิการให้เห็นชัดเจน
- อยู่ใกล้ทางเข้า สามารถขึ้น-ลงทางเท้าสะดวก
นอกจากการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์สามารถขึ้น-ลงรถได้สะดวกแล้ว อีกปัญหานึงที่เจอบ่อย ๆ คือ คนทั่ว ๆ ไปมาใช้ที่จอดรถตรงนี้ หรือมอเตอร์ไซค์เห็นพื้นที่ว่างข้างที่จอด ก็เข้ามาจอดแทรก เหล่านี้ ทำให้ผู้ใช้วีลแชร์ตัวจริง ไม่ได้ใช้ที่จอดรถคนพิการจริง ๆ เอาเป็นว่า เราต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา สงวนสิทธิ์ที่จอดรถคนพิการให้คนที่จำเป็นต้องใช้งานกัน
2. ทางลาด
- มีความกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร
- ไม่ชันเกินไปจนอาจเกิดอุบัติเหตุได้ โดยสัดส่วนทางลาดที่เหมาะสม คือ 1:12
- หากลาดยาวเกิน 6 เมตร ต้องมีชานพักยาวอย่างน้อย 1.5 เมตร คั่นระหว่างช่วง
- มีขอบสูงจากพื้นทางลาดอย่างน้อย 5 เซนติเมตร หรือมีราวจับหากทางลาดยาวตั้งแต่ 2.5 เมตร ขึ้นไป
หลาย ๆ สถานที่มีทางลาดหน้าห้างร้าน แต่มาพลาดตรงที่หน้าประตู ดันมีพื้นต่างระดับ เอาเป็นว่า ถ้าจะให้ชาววีลแชร์หมุนล้อได้ฉิว ๆ ไม่สะดุด ต้องไม่มีพื้นต่างระดับเลยจ้ะ
หากพื้นที่จำกัด ไม่สามารถทำทางลาดตามมาตรฐานได้ อาจติดตั้งแพลตฟอร์มลิฟต์ สำหรับขึ้น-ลงได้ อย่างที่เคยเห็นในกรุงเทพฯ จะมีแพลตฟอร์มลิฟต์จากรถไฟฟ้าใช้ดิน MRT ไปยังสามย่าน มิตรทาวน์ หรือตรง sky walk หน้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติ เข้าไปยังหอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นต้น
3. ห้องน้ำคนพิการ
- พื้นห้องน้ำไม่มีขั้นต่างระดับ
- บานประตูเปิดออก หรือเป็นบานเลื่อน
- มีพื้นที่ว่างในห้องน้ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 1.5 เมตร (ให้หมุนตัวกลับได้)
- มีราวจับที่เหมาะสม
- ก๊อกน้ำแบบก้านโยก หรือแบบอัตโนมัติ
- มีระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน
ห้องน้ำคนพิการบางที่ ติดป้ายสัญลักษณ์คนพิการไว้ แต่ใช้งานไม่ได้จริง เพราะห้องน้ำแคบเกินไป หรือบางที่ขนาดกว้างพอให้วีลแชร์หมุนล้อเข้าไปได้ แต่ประตูเป็นบานเปิดเข้าไปในห้องน้ำ ทำให้วีลแชร์เข้าไปแล้วปิดประตูห้องน้ำไม่ได้ รายละเอียดของห้องน้ำคนพิการเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่จำเป็นกับการใช้งาน
4. ลิฟต์
- ประตูลิฟต์กว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร
- พื้นที่ภายในลิฟต์อย่างน้อย 1.1 x 1.4 เมตร
เรื่องของลิฟต์นี้ ดูไม่น่ายาก เพราะบริษัทที่ผลิตลิฟต์ส่วนใหญ่จะได้มาตรฐานกันอยู่แล้ว แต่การติดตั้งลิฟต์นั้น อย่าลืมว่าผู้ใช้วีลแชร์ต้องใช้งานได้จริงด้วยนะ เคยเจอบางที่ติดลิฟต์ไว้ และเปิด-ปิดตรงครึ่งชั้น ต้องเดินขึ้น-ลงบันได ไปอีกครึ่งชั้น ถึงจะไปถึงจุดหมายได้ แบบนี้ใช้ไม่ได้นะจ๊ะ ติดลิฟต์ทั้งที ต้องทำให้ดี ให้ใช้งานได้ด้วย